พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘
อาจกล่าวได้ว่ากิจการลูกเสือในยุคนี้เป็นยุคที่มีความเคลื่อนไหว ตลอดจนพัฒนาการแห่งคณะลูกเสือน้อยที่สุด ด้วยเหตุว่า
1. เกิดสงครามข้อพิพาทดินแดนในอินโดจีน ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2482
2. เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2484
3. ยุคเริ่มต้นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ก่อให้เกิดระบอบการเมือง ที่มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ทำให้ต้องยุบสภาและเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยๆ เมื่อการเมืองไม่นิ่งสงบทำให้ไม่มีใครเข้ามาดูแลกิจการลูกเสืออย่างจริงจัง เพราะอำนาจในการบริหารเปลี่ยนมือตลอดเวลา
4. รัฐบาลในยุคนั้นก่อตั้งกิจการยุวชนทหาร เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่รุนแรงของโลก ซึ่งได้ทับซ้อนกับกิจการลูกเสือ จนถึงที่สุดก็ได้ยุบกิจการลูกเสือให้เป็นเพียงหน่วยหนึ่งในกิจการยุวชนทหาร
5. รัชสมัยของพระองค์นั้นสั้นมากโดยสิ้นสุดลงในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 รวมเวลาในการครองสิริราชสมบัติเพียง 9 ปี
แต่อย่างไรก็ดียังมีปรากฏการณ์สำคัญของกิจการลูกเสือที่ต้องจารึกไว้คือ
1. การมีตราสัญลักษณ์ประจำคณะลูกเสือเป็นครั้งแรก เพื่อให้เข้ากับหลักสากลที่ลูกเสือทั่วโลกต่างก็มีตราสัญลักษณ์ของตนเองทั้งสิ้น โดยใช้สัญลักษณ์ลูกเสือโลก คือรูป เฟอร์ เดอ ลีร์ ประกอบกับรูปหน้าเสือ มีอักษรจารึกด้านล่างว่า เสียชีพอย่าเสียสัตย์
2. มีการออกพระราชบัญญัติลูกเสือขึ้นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2482 มีสาระคือ การกำหนดให้คณะลูกเสือแห่งชาติมีสภาพเป็นนิติบุคคล และโอนทรัพย์สินทั้งหลายในกิจการเสือป่าให้ตกเป็นของคณะลูกเสือแห่งชาติ เนื่องจากกิจการเสือป่าหยุดลงไป และไม่มีใครใส่ใจดูแล
3. ปี พ.ศ. 2479 เมื่อถึงวันที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันกำเนิดลูกเสือ แต่ทางคณะลูกเสือไม่สามารถจัดงานใหญ่ได้ เพราะสถานการณ์การเมืองและสถานการณ์ที่ตึงเครียดทั่วโลก จึงได้เปลี่ยนใหม่การจัดสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ องค์ใหญ่ โดยประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเทิดพระเกียรติและประดิษฐานไว้ที่หน้าสวนลุมพินี จนปัจจุบัน